เมนู

ก็ในที่นี้พึงทราบว่า เบญจขันธ์เป็นตัวสังหารกันและกันอย่างนี้
คือ อรูปขันธ์ทั้ง 4 กับรูปซึ่งเป็นที่อาศัยของอรูปขันธ์ ทั้ง 4 นั่น
(ต่างก็สังหารกันแลกัน).
อนึ่ง เมื่อขันธ์ทั้งหลายมีอยู่ การฆ่า การจองจำ และการตัด
(มือเท้า) เป็นต้น จึงมี พึงทราบว่า เบญจขันธ์เป็นผู้ฆ่า เพราะเมื่อขันธ์
เหล่านี้มี การฆ่าจึงมีอย่างนี้บ้าง. บทว่า สพฺพสํโยคํ ได้แก่ สังโยชน์
ทั้งหมด 10 อย่าง. บทว่า อจฺจุตํ ปทํ หมายถึง นิพพาน.
จบ อรรถกถาเผณปิณฑสูตรที่ 2

4. โคมยปิณฑสูตร



ว่าด้วยความไม่เที่ยงแท้แน่นอนแห่งขันธ์ 5



[248] กรุงสาวัตถี. ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่ง เข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคเจ้า ฯลฯ. ภิกษุรูปนั้น ครั้นนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าดังต่อไปนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
มีอยู่หรือไม่ รูปบางอย่าง ที่เที่ยง ยั่งยืน สืบต่อกันไป ไม่มีความ
แปรปรวนเป็นธรรมดา จักดำรงคงที่อยู่อย่างนั้นเอง เสมอด้วยสิ่งที่
ยั่งยืนทั้งหลาย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ จะมีหรือไม่ เวทนาบางอย่าง
ที่เป็นของเที่ยง ยั่งยืน สืบต่อกันไป ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
จักดำรงคงที่อยู่อย่างนั้นเอง เสมอด้วยสิ่งที่ยั่งยืนทั้งหลาย ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ จะมีหรือไม่ สัญญาบางอย่าง ที่เป็นของเที่ยง... ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ จะมีหรือไม่ สังขารบางอย่าง ที่เป็นของเที่ยง ยั่งยืน สืบต่อกันไป

มีความไม่แปรปรวนเป็นธรรมดา จักดำรงคงที่อยู่อย่างนั้นเอง
เสมอด้วยสิ่งที่ยั่งยืนทั้งหลาย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ จะมีหรือไม่
วิญญาณบางอย่าง ที่เป็นของเที่ยง ยั่งยืน สืบต่อกันไป มีความไม่
แปรปรวนเป็นธรรมดา จักดำรงคงอยู่อย่างนั้นเอง เสมอด้วยสิ่งที่
ยั่งยืนทั้งหลาย.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ ไม่มีเลย รูปบางอย่าง
ที่เป็นของเที่ยง ยั่งยืน สืบต่อกันไป ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
จักดำรงคงที่อยู่อย่างนั้นเอง เสมอด้วยสิ่งที่ยั่งยืนทั้งหลาย. ดูก่อน
ภิกษุทั้งหลาย ไม่มีเวทนาอะไรบางอย่าง... สัญญาบางอย่าง...
สังขารบางอย่าง... วิญญาณบางอย่าง ที่เป็นของเที่ยง ยั่งยืน สืบต่อกันไป
ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา จักดำรงคงที่อยู่อย่างนั้นเอง เสมอด้วยสิ่งที่
ยั่งยืนทั้งหลาย.
[249] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหยิบก้อนโคมัยเล็ก ๆ
ขึ้นมาแล้ว ได้ตรัสกะภิกษุนั้นดังต่อไปนี้ว่า.
ดูก่อนภิกษุ ไม่มีอัตภาพที่ได้แล้ว แม้ประมาณเท่านี้เลย ที่เป็น
ของเที่ยง ยั่งยืน สืบต่อกันไป ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
จักดำรงคงที่อยู่อย่างนั้นเอง เสมอด้วยสิ่งที่ยั่งยืนทั้งหลาย ดูก่อนภิกษุ
แม้ผิว่า จักได้มีอัตภาพที่ได้มาประมาณเท่านี้ ที่เป็นของเที่ยง ยั่งยืน
ติดต่อกันไป ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดาแล้วไซร้ การอยู่
ประพฤติพรหมจรรย์นี้ เพื่อความสิ้นไปแห่งทุกข์โดยชอบ ก็จะไม่ปรากฏ.
ดูก่อนภิกษุ เพราะเหตุที่ไม่มีเลย อัตภาพที่ได้มาแล้วประมาณเท่านี้
ที่จะเป็นของเที่ยง เป็นของยั่งยืนติดต่อกันไป มีความไม่แปรปรวนเป็น
ธรรมดา ฉะนั้นการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อความสิ้นไปแห่งทุกข์
โดยชอบ จึงปรากฏ.

[250] ดูก่อนภิกษุ เรื่องเคยมีมาแล้ว เราตถาคตได้เป็น
ขัตติยราช ได้รับมุรธาภิเษกแล้ว. ดูก่อนภิกษุ เราตถาคตผู้เป็นขัตติยราช
ได้รับมุรธาภิเษกแล้ว ได้มีพระนคร 84,000 พระนคร มีกุสาวดีราชธานี
เป็นนครเอก. มีปราสาท 84,000 หลัง มีธรรมปราสาท เป็นปราสาท
เอก. มีพระตำหนัก 84,000 หลัง มีพระตำหนักมหาพยุหะ เป็น
พระตำหนักเอก. มีพระราชบัลลังก์ 84,000 บัลลังก์ ทำด้วยงา
สลับด้วยแก่นจันทน์แดง ประดับด้วยทองและเงิน ลาดด้วยผ้าโกเชาว์
มีขนยาวเกิน 4 องคุลี ลาดด้วยผ้ากัมพลขาว ทำด้วยขนแกะ มีขนทั้ง
2 ด้าน ลาดด้วยเครื่องลาด ทำด้วยขนแกะมีดอกทึบ มีเครื่องลาดอย่างดี
ทำด้วยหนังชะมด มีเพดานสีแดง มีหมอนสีแดงทั้งสองด้าน (ด้านศีรษะ
และด้านเท้า ) มีช้างต้น 84,000 เชือก มีคชาภรณ์ทำด้วยทอง
มีธงทอง คลุมศีรษะด้วยข่ายทอง มีพญาช้างอุโบสถเป็นช้างทรง.
มีม้าต้น 84,000 ตัว มีเครื่องประดับทำด้วยทอง คลุม (หลัง) ด้วย
ข่ายทอง มีวลาหกอัศวราชเป็นม้าทรง. มีรถทรง 84,000 คัน มี
เครื่องประดับทำด้วยทอง มีธงทำด้วยทอง ปกปิดด้วยข่ายทอง
มีเวชยันตราชรถ เป็นรถทรง. มีรัตนะ 84,000 ดวง มีแก้วมณีเป็น
ดวงเอก. มีพระสนมนารี 84,000 นาง มีพระนางภัททาเทวีเป็น
พระสนมเอก. มีกษัตริย์ 84,000 องค์ ตามเสด็จ มีปริณายกแก้ว
เป็นประมุข. มีแม่โคนม 84,000 ตัว มีผ้าทุกูลพัสตร์เป็นผ้าคลุมหลัง
มีภาชนะสำริดทำด้วยเงิน สำหรับรองรีดนม. มีผ้า 84,000 โกฏิ
เป็นผ้าเปลือกไม้เนื้อละเอียด เป็นผ้าไหมเนื้อละเอียด เป็นผ้ากัมพล
เนื้อละเอียด เป็นผ้าฝ้ายเนื้อละเอียด มีสุพรรณภาชน์ 84,000 ที่ ซึ่ง
เจ้าหน้าที่ห้องเครื่อง นำเข้าไปเทียบ เช้า เย็น.
[251] ดูก่อนภิกษุ ก็บรรดาพระนคร 84,000 นครเหล่านั้น

นครที่เราครอง มีนครเดียวเท่านั้น คือกุสาวดีราชธานี. บรรดาปราสาท
84,000 หลังเหล่านั้น ปราสาทที่เราครอบครองสมัยนั้น มีหลังเดียว
เท่านั้น คือธรรมปราสาท. บรรดาพระตำหนัก 84,000 ตำหนัก
เหล่านั้นแล ตำหนักที่เราครอบครองสมัยนั้น มีหลังเดียวเท่านั้น คือ
พระตำหนักมหาพยูหะ. บรรดาพระราชบัลลังก์ 84,000 บัลลังก์
เหล่านั้นแล บัลลังก์ที่เรานั่งสมัยนั้น คือบัลลังก์งา หรือบัลลังก์ไม้
แก่นจันทน์ หรือบัลลังก์ทอง หรือบัลลังก์เงิน. บรรดาช้างต้น 84,000
เชือกเหล่านั้น ช้างที่เราทรงสมัยนั้น มีเชือกเดียวเท่านั้น คือพระคชาธาร
ชื่ออุโบสถ. บรรดาม้าต้น 84,000 ตัว เหล่านั้นแล ม้าที่เราทรงสมัยนั้น
มีตัวเดียวเท่านั้น คือ วลาหกอัศวราช. บรรดาราชรถ 84,000 คัน
เหล่านั้นแล รถที่เราทั้งสมัยนั้น มีคันเดียวเท่านั้นคือ เวชยันตราชรถ.
บรรดาสนมนารี 84,000 นางเหล่านั้นแล สนมนารีที่เรายกย่องสมัยนั้น
มีคนเดียวเท่านั้น คือ นางกษัตริย์ หรือหญิงที่มีกำเนิดจากกษัตริย์และ
พราหมณ์. บรรดาพระภูษา 84,000 โกฏิคู่ เหล่านั้นแล คู่พระภูษาที่
เราใช้สมัยนั้น มีคู่เดียวเท่านั้นคือ พระภูษาเปลือกไม้เนื้อละเอียด
พระภูษาไหมเนื้อละเอียด พระภูษากัมพลเนื้อละเอียด หรือพระภูษา
ฝ้ายเนื้อละเอียด. บรรดาพระสุพรรณภาชน์ 84,000 สำรับ
เหล่านั้นแล พระสุพรรณภาชน์สำรับเดียวเท่านั้น ที่เราเสวย จุข้าวสุก
ทะนานหนึ่งเป็นอย่างมาก และกับแกงพอเหมาะแก่ข้าวสุกนั้น.
ดูก่อนภิกษุ สังขารทั้งปวงเหล่านั้น ที่เป็นอดีตก็ดับไปแล้ว แปรปรวนไป
แล้ว ด้วยประการดังนี้แล สังขารทั้งปวงไม่เที่ยงอย่างนี้ สังขารทั้งปวง
ไม่ยั่งยืน ไม่เชื่อฟังอย่างนี้แล. ดูก่อนภิกษุ ก็ความไม่เที่ยงนี้ พอเพียง
แล้ว เพื่อจะเบื่อหน่าย เพื่อจะคลายกำหนัด เพื่อจะหลุดพ้น ในสังขารทั้งปวง.
จบ โคมยปิณฑสูตรที่ 4

อรรถกถาโคมยปิณฑสูตรที่ 4



พึงทราบวินิจฉัยในโคมยปิณฑสูตรที่ 4 ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า สสฺสติสมํ ได้แก่ เสมอด้วยสิ่งที่ยั่งยืนทั้งหลาย
มีภูเขาสิเนรุ แผ่นดินใหญ่ พระจันทร์และพระอาทิตย์ เป็นต้น.
บทว่า ปริตฺตํ โคมยปิณฺฑํ ได้แก่ ก้อนโคมัย (มูลโค)มีประมาณ
น้อยขนาดเท่าดอกมะซาง.
ถามว่า ก็ก้อนโคมัยนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้มาจากไหน ?
ตอบว่า พระองค์ทรงหยิบมาจากก้อนโคมัยที่ภิกษุรูปนั้นนำมา
เพื่อต้องการใช้ฉาบทา (เสนาสนะ).
อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ก็พึงทราบว่า ก้อนโคมัย พระผู้มี-
พระภาคเจ้าทรงใช้ฤทธิ์บันดาลให้มาอยู่ในพระหัตถ์ ก็เพื่อให้ภิกษุได้
เข้าใจความหมาย (ของพระธรรมเทศนา) ได้แจ่มแจ้ง.
บทว่า อตฺตภาวปฏิลาโภ ได้แก่ ได้อัตภาพ. บทว่า นยิทํ
พฺรหฺมจริยวาโส ปญฺญาเยถ
ความว่า ชื่อว่า การอยู่ประพฤติ
มรรคพรหมจรรย์นี้ไม่พึงปรากฏ เพราะว่ามรรคเกิดขึ้นทำสังขาร
ที่เป็นไปในภูมิ 3 ให้ชะงัก ก็ถ้าว่าอัตภาพเพียงเท่านี้ จะพึงเที่ยงไซร้
มรรคแม้เกิดขึ้นก็จะไม่สามารถทำสังขารวัฏให้ชะงักได้ เพราะเหตุนั้น
การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์จะไม่พึงปรากฏ.
บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงว่า ถ้าสังขารอะไรจะพึงเที่ยงไซร้ สมบัติ
ที่เราเคยครอบครอง เมื่อครั้งเป็นพระเจ้ามหาสุทัสสนะ ก็จะพึง
เที่ยงด้วย แต่สมบัติแม้นั้นก็ไม่เที่ยง พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำว่า
ภูตปุพฺพาหํ ภิกฺขุ ราชา อโหสึ เป็นต้น.